Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

บรรยายสรุปจังหวัดตราด
---------------------------

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดตราด

1. คำขวัญและตราประจำจังหวัดตราด
คำขวัญจังหวัดตราด
เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ
ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี
ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพาตราประจำจังหวัด

     เครื่องหมายประจำจังหวัดตราดได้กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓ โดยคณะกรมการจังหวัดตราด ได้พิจารณาปรึกษาหารือกับข้าราชการ พ่อค้า คหบดี มีความเห็นร่วมกันเป็นส่วนมากเลือกเอารูปธรรมชาติที่ดี เด่นที่สุดของจังหวัดตราดเป็นเครื่องหมายประจำจังหวัด คือ รูปเกาะช้าง ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด เคยเป็นที่ตั้งอำเภอมาระยะหนึ่ง เรียกว่า อำเภอเกาะช้าง ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ด้านหน้าของรูปเกาะช้างมีโป๊ะ และเรือใบ ความหมายก็คือ ตามท้องทะเลรอบๆเกาะช้างเป็นแหล่งการประมง

     มีการทำโป๊ะ จับปลาอยู่มากแห่งและชุมไปด้วยสัตว์ทะเลต่าง ๆ สำหรับเรือใบนั้นมีความหมายให้ระลึกถึงว่าเมืองตราดได้ก่อตั้งขึ้นก่อนสมัยกรุงธนบุรี ในสมัยนั้นต้องใช้เรือใบติดต่อกับจังหวัดข้างเคียงและต่างประเทศ จึงให้มีภาพเรือใบปรากฏอยู่(เดิมจังหวัดตราดใช้ ตราประจำจังหวัดเป็นรูปเรือรบหลวงตราด)

2. ธงประจำจังหวัดตราด

ลักษณะพื้นสีแดงและสีน้ำเงินตรงกลางมีตราประจำจังหวัด

ธงช้าง ธงชาติไทยในสมัย ร.๔-ร.๕ โปรดเกล้าให้เอาจักรออกคงเหลือแต่รูปช้างเผือกและใช้ต่อมาตลอดสมัย ร.๕ เป็นธงชาติไทยผืนแรกเรียกว่า "ธงช้าง"

3. ดอกไม้ประจำจังหวัดตราด
ดอกกฤษณา (Eagle Wood)

4. ต้นไม้ประจำจังหวัดตราด
ต้นหูกวาง (Bengal Almond)

5. ประวัติความเป็นมาของจังหวัด
     ครั้งเมื่อสงครามกู้เอกราช (พ.ศ. ๒๓๑๐) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้าด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารก่อนเคลื่อนกองทัพเรือออกจากจันทบุรี ยกไปขับไล่พม่า เพื่อกอบกู้ เอกราชคืนสู่ชาติไทย ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๑ เมืองตราดยังขึ้นกับกรมท่า แสดงให้เห็นว่าเมืองตราดยังคงสังกัดอยู่ในฝ่ายกิจการต่างประเทศและการคลัง ในฐานะหัวเมืองชายฝั่งทะเล และเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งต่อมาหันไปสวามิภักดิ์กับญวน ไทยกับญวนผิดใจกันจนต้องทำสงครามในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ เมืองตราดมีความสำคัญเป็นแหล่งกำลังพลและเสบียงอาหาร มีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตราด สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศสได้พยายามทุกทางที่จะเข้ายึดครองดินแดนของประเทศไทยให้ได้ เช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จในพม่า กัมพูชา และลาว โดยส่งกองทัพเรือเข้ายึดจันทบุรี ในปี ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) และคืนให้ไทยใน ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ แต่ได้บังคับให้ไทยต้องยอม มอบเมืองตราดให้อยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส รัฐบาลไทยเห็นว่า ตราดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสจึงยินยอมยกเมืองตราดคืนให้กับไทยเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยแลกเปลี่ยนกับเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ชาวตราดจึงถือเอาวันที่ ๒๓ มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ชาวตราดและคนไทยจะได้สำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระพุทธเจ้าหลวง ในการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของไทยไว้ให้ลูกหลาน

     ในช่วงสงครามอินโดจีน (พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔) ฝรั่งเศสพยายามเข้ายึดเมืองตราดอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยส่งกองเรือรบล่วงล้ำน่านน้ำทะเลตราดบริเวณเกาะช้าง กองเรือรบราชนาวีไทยได้เข้าต่อสู้ขัดขวางอย่างกล้าหาญ และสามารถขับไล่ข้าศึกให้ล่าถอยไปได้ แต่ต้องสูญเสียเรือรบหลวงไป ๓ ลำ คือ เรือรบหลวงสงขลา เรือรบหลวงชลบุรี และเรือรบหลวงธนบุรี รวมทั้งทหารอีกจำนวนหนึ่ง เป็นวีรกรรมของทหารเรือไทยที่รู้จักกันในนาม "ยุทธนาวีเกาะช้าง"

 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 846,299